อะไรที่ทำให้สมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (PTA) จัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องเพศในหัวข้อที่เกิดเป็นข่าว? ความสงสัยใคร่รู้ ความวิตกกังวล ความสนใจ หรือความกลัว?
ถ้าดูจากหัวข้อที่ PTA ตั้งขึ้น “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน” ผมคิดว่า มาจากความกลัว กลัวลูกจะเป็นเกย์ กลัวจะเป็นกะเทย (ทอม ดี้ ไม่มี เพราะโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนชายล้วน)
แล้วถามว่า ความกลัวนั้นมาจากไหน? คำตอบก็คือ มาจากรากเหง้าแห่งความเข้าใจว่า การเป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ นั้นเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดแผกจากธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ชายต้องคู่กับหญิง แต่งงาน มีลูก แล้วก็ตายไป ชุดความเชื่อนี้มาจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้รับการปรับปรุงอัปเดตมานับหลายทศวรรษ
“ความกลัว” ดังกล่าวนั้น “เป็นที่เข้าใจได้” และความกลัวดังกล่าวนั้น เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเลือกการตั้งหัวข้อสัมมนานี้ที่มีคำว่า “เบี่ยงเบน” อยู่ในนั้น จนกลายเป็นเรื่องราวที่สื่อนำไปเสนอต่อเนื่องกันอย่างครึกครื้นในช่วงต้นสัปดาห์ของเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ขอนำแถลงการณ์ของกลุ่ม LGBT มาลงตรงนี้สั้นๆ เพื่ออธิบายว่า ทำไมไม่ควรใช้คำว่า “เบี่ยงเบน”
คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” เป็นคำที่สะท้อนความไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี จึงเกิดอคติทางเพศ ต่อบุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยคำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” หรือ “Sexual Deviation” เป็นคำที่ถูกใช้เพื่อตีตรา (Stigmatization) กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อ (Victimization) ของการถูกตีตรานั้น เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ และคำนี้ได้ถูกถอดถอนจากบัญชีรายชื่อที่ใช้อธิบายกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไปเมื่อหลายปีมาแล้ว โดย World Health Organization
(อ้างอิงจาก http://www.who.int/bulletin/volumes/92/9/14-135541/en/)
ณ ปัจจุบัน หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันไว้ อาทิ หลักการยอกยาการ์ตา (Yogyakarta Principle) ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในวิถีทางเพศ (Sexual Orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) และต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามการเลือกปฏิบัติ และห้ามการกระทำด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ
อีกทั้ง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า การกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีการปฏิบัติโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้ ซึ่งคำว่า “เพศ” นั้น พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลทุกเพศรวมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศที่กำเนิดด้วย”
เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ ไม่เคยไปถึงสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนแห่งนี้ และเชื่อว่า คงไม่ไปถึงสมาคมและครูของโรงเรียนอื่นๆ ถ้าไปถึง คงไม่มีการจัดสัมมนา หัวข้อ “เลี้ยงลูกยังไงไม่ให้เบี่ยงเบน” จริงมั๊ย?
ในวันจันทร์ที่ 3 กันยายน PTA ยังคงจัดสัมมนานี้อยู่ แต่ไม่ใช้หัวข้อสัมมนาที่มีปัญหานี้ ไม่มีการตั้งหัวข้อใหม่ แต่ได้มีการเปลี่ยนจากวิทยากรภายใน เป็นบุคคลจากภายนอกที่เป็นนักจิตวิทยา มีผู้ปกครองและครูไปร่วมฟังประมาณ 50 คน และการจัดสัมมนาก็เป็นไปด้วยดี ผู้สังเกตการณ์ท่านหนึ่งเล่าว่า ผู้ฟังกระหายใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเพศวิถี และเพศสภาพมาก และมีคำถามต่างๆ มากมายที่เรียกว่า “พื้นฐาน” มากเสียจนผู้เขียนเองก็อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ และทำให้ผู้เขียนเกิดความเข้าใจบางอย่าง
ความเข้าใจใหม่นั้นคือ ถึงแม้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชน และมี “ผู้มีอันจะกิน” ส่งลูกหลานเข้าเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองของที่นี่จะมีเป็นผู้มีความรู้เรื่องเพศที่เท่าทันกับโลกยุคปัจจุบัน
ผู้สังเกตการณ์เล่าว่า เขาได้รับคำถามพื้นฐานเป็นจำนวนมาก จนไม่น่าเชื่อว่าจะโดนถามแบบนั้น ตั้งแต่สาเหตุที่เป็นเกย์ การแสดงออก บทบาทความเป็นชาย เป็นหญิง เรื่อยไปจนถึง บางท่านไม่รู้ว่า ในต่างประเทศคนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสแบบที่ชายหญิงทำกันได้แล้ว
เขาเล่าว่า มีคุณแม่ท่านหนึ่งมาบอกว่า ลูกชายเพิ่งมาบอกว่า ตัวเองน่าจะไม่ชอบผู้หญิง เมื่อได้ยินดังนั้น ตัวคุณแม่เองก็งง และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อจบการสัมมนาพวกเขารู้สึก “ขอบคุณ” ผู้สังเกตการณ์ที่มาปรากฎกายท่านนั้นอย่างสุดซึ้งที่ทำให้พวกเขาได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ขึ้น
ซึมเศร้า โรคฮิตในหมู่ LGBT
คนที่เพิ่งดิ่งจากสะพานพระราม 8 แล้วเสียชีวิต พบศพลอยน้ำในเวลาต่อมา เป็น LGBT หรือไม่ ไม่มีการยืนยัน แต่ที่แน่ๆ ใครที่เป็น LGBT โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จะมีแนวโน้มเป็น “โรคซึมเศร้า” สูงกว่าคนทั่วไปกว่า 4 เท่า ส่วนใครที่เป็นทรานเจนเดอร์ (เกิดมาในร่างชาย แต่จริงๆ...
ทรานส์เจนเดอร์ บิวตี้-บันเทิง ล้นแล้ว
ผู้หญิงคู่กับความสวย ส่วนทรานส์เจนเดอร์คู่กับ…ความสวยกว่า ในปีนี้ เป็นครั้งแรก บนเวทีขาอ่อนระดับโลก Miss Universe 2018 จะมีทรานส์เจนเดอร์ (ผู้ที่เกิดเป็นชาย แต่ความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณเป็นหญิง) มาเดินอวดโฉมประชันความงามกับผู้เข้าประกวดที่เกิดมาเป็นผู้หญิง...
อังกฤษล้ำยกเครื่องหลักสูตรเพศวัยใสหวังไล่ทันยุคโซเชียล
เจ้าแห่งระบบการศึกษาของโลกอย่างอังกฤษ ไม่ใช่แค่ขยับ แต่ครั้งนี้ ปรับใหญ่ มั่นใจหลักสูตรเพศศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างเพศแนวใหม่จะสามารถเตรียมเยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลได้ Relationship and Sex Education...
THIS IS ME VATANIKA แรงสั่นสะเทือนของความเป็นผู้หญิง
เพียงเดือนเศษๆ รายการเรียลิตี้น้องใหม่บนช่อง YouTube ก็กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์เรียบร้อยแล้ว ด้วยยอดเข้าชมและติดตามทะลุหลักล้านในเวลาอันรวดเร็ว จนใครๆ ที่ไม่รู้ว่า วลีเด็ด “สาจ๋า….” มาจากไหน ต้องรีบกดเข้าไปดูทันที! THIS IS ME VATANIKA...