ทำไมแบรนด์ Apple ถึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับเกย์ หรือความเป็นเกย์?
ก่อนยุค iPad, iPhone, iPod, iTunes, และ iMac ถ้าเห็นผู้ชายคนไหนกำลังใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ้คยี่ห้อ Apple จะมีคนคิดว่า “หมอนี่น่าจะเป็นเกย์” จนมีคำแซวกันขำๆ ว่า “If you are a Mac, You are a fag!” (ถ้าคุณใช้แมค คุณเป็น “ตุ๊ด” ชัวร์)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหล่าเกย์เป็นสาวกพันธุ์แท้ยุคแรกๆ ของ Steve Jobs และ Apple Computer ซึ่งน่าจะอธิบายได้จากผลิตภัณฑ์ยุคแรกๆ ของ Apple ที่เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงในการประมวลผล โดยเฉพาะสำหรับงานกราฟฟิค
คงไม่ใช่เพราะภาพลักษณ์หรือคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า ใครใช้เครื่องแมค จะดูหรู เท่ มีตังค์ และเหล่าเกย์ เป็นคนที่ชอบความหรู เท่ และมีตังค์ เลยใช้แมค
แต่น่าจะเป็นเพราะว่า เหล่าเกย์ ทำงานในแวดวงดีไซน์เป็นจำนวนมาก เราจึงมักเห็น Apple ปรากฏตัวพร้อมกับเหล่ากราฟฟิคดีไซเนอร์ และบังเอิญ คนที่ทำงานในแวดวงนี้ ถ้าเป็นเกย์ ก็มักจะไม่แอบ ไม่ปกปิดกัน
ภาพลักษณ์ของ Apple ถูกตอกย้ำให้สนิทแนบกับเกย์ และความเป็นเกย์มากยิ่งขึ้นด้วยโลโก้เฉดสีรุ้ง (ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นสีโครมเมื่อเร็วๆ นี้ หลัง Apple บุกตลาดคอนซูเมอร์มากขึ้นด้วยการออกผลิตภัณฑ์ตระกูล “i” สารพัด)
แต่ความจริงแล้ว ไม่มีหลักฐานบ่งชี้แน่ชัดว่า Steve Jobs เลือกโลโก้เป็นรูปแอปเปิ้ลแหว่งสีรุ้งเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ คือ สีรุ้งเป็นสีหนึ่งของสัญลักษณ์เกย์ กะเทย ทอม ดี้ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
และเป็นที่รู้กันว่า แบรนด์ Apple คือแบรนด์ที่เป็นมิตรกับเกย์ หรือ gay-friendly มากที่สุดแบรนด์หนึ่งของโลก นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการสำรวจว่า เป็นแบรนด์ในดวงใจของบรรดาผู้บริโภคทั่วโลกแล้ว
อย่างในปี 2008 Apple ก็ได้รับการโหวตว่าเป็นแบรนด์ gay-friendly สูงสุดอันดับสอง (รองจากสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลชื่อ BRAVO) จากการสำรวจกว่า 2,000 คนโดยเว็บเกย์ชื่อดัง PlanetOut ร่วมกับบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง
ตัวชี้วัดการเป็นแบรนด์ขวัญใจมนุษย์สีรุ้งที่ชัดเจนที่สด น่าจะมาจากนโยบายของบริษัทที่เป็นที่รู้กันในแวดวงไอทีว่า พนักงานที่เป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ที่นี่ ไม่ต้องแอบ ไม่ต้องปกปิดตัวเอง เพราะบริษัทสนับสนุนให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง แถมยังมีโนบาย Equalityในเรื่องประโยชน์ต่างๆ และให้ความเท่าเทียมกันในการก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อเร็วๆ นี้ Tim Cook ได้รับเลือกเป็นทายาทของ Steve Jobs ในการกุมบังเหียนบริษัทแห่งนี้ ถึงแม้ Tim Cook จะไม่เคยพูดถึงความเป็นเกย์ของตัวเอง เขาก็ไม่เคยปฏิเสธ และในบริษัทแห่งนี้ก็สนับสนุนให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง (คุณจะดูใบหน้าของเหล่าเกย์ เลส ทอม ดี้ และผู้หญิงข้ามเพศได้ในวิดีโอแคมเปญดังรณรงค์ไม่ให้เหล่าเกย์วัยรุ่นฆ่าตัวตาย It Gets Better: Apple Employee
นอกจาก Tim Cook แล้ว ก็ยังมีบุคคลอื่นๆ ในตำแหน่งสำคัญของ Apple อีกที่เป็นเกย์ เช่น Randy Ubillos หนึ่งในผู้สร้างโปรแกรมตัดต่องานภาพยนตร์และวิดีโอ Final Cut (และ Premier) และ Steve Demeter ผู้ริเริ่มคิดค้นเกมที่เล่นกับ iOS
นโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมกันของ Apple และ Steve Jobs ถือเป็นจุดยืนที่ชัดเจน ในอเมริกา หากเมืองไหนที่ Apple จะไปเปิดสำนักงานหรือเปิดการค้าร่วมด้วยนั้นไม่สนับสนุนองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมกัน Apple ก็เลือกจะไม่ไปลงทุน